Krungsri มุ่งหน้าช่วยเหลือสตาร์ทอัพ และหนุนระบบนิเวศ ฝ่าวิกฤต Covid-19

17 February 2021
Share
  1. ท่ามการผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทางธนาคารมีการปรับตัว และมีส่วนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร

ธนาคารเองมีทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนิติบุคคล แล้วก็บุคคลธรรมดา ซึ่งเรามีการช่วยเหลือในทุกๆส่วน อย่างลูกค้ารายย่อยเราก็มีการยืดระยะเวลาหนี้ให้ ลดดอกเบี้ยให้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถ สำหรับลูกค้ารายใหญ่เราก็มีการช่วยทั้งยืดระยะเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย หรือทั้งลดทั้งไม่เดินดอกเบี้ยในการปล่อยกู้ Soft Loan ที่ได้มาจากรัฐบาล เพื่อนำมาปล่อยกู้ในราคาถูก อยู่ที่ 1 – 2 เปอร์เซ็นต์ ให้ลูกค้ารายใหญ่สามารถดำเนินกิจการไปได้ และในบาง Sector ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ เช่น การท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถฟื้นได้ เราก็อาจจะยืดโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือออกไป

นอกจากนั้นเรายังให้คำปรึกษาทั้งผู้ประกอบการรายย่อย และพนักงาน เพื่อช่วยหาทางออกให้เขาว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าพูดถึง Krungsri Finnovate เอง เราก็มีการช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิดนี้ด้วย โดยจัดเวที Online Pitching ขึ้น เพื่อให้สตาร์ทอัพที่อยู่ใน Early Stage ได้มาเจอกับบรรดาเหล่า Angel หรือ VC ที่ชอบลงทุนในกิจการเล็กๆ ซึ่งโครงการนี้เราจัดอยู่เดือนละครั้ง ทุกวันพุธสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน และเราก็จัดมาได้ทั้งหมด 10 ครั้งแล้ว โดยมีสตาร์ทอัพถึง 48 ทีม ที่เข้ามาร่วม โดยที่เราจะฝึกอบรม แล้วก็ช่วยทำ Pitching หลังจากนั้นเราก็จะทำ KFINSight Report ให้กับสตาร์ทอัพและฝั่งนักลงทุน เพื่อที่แต่ละฝ่ายจะได้ทราบว่าคนอื่นมองทีมนี้เป็นอย่างไร มีคำติชมว่าอย่างไร ซึ่งในตอนนี้ก็มีสตาร์ทอัพ 2-3 รายแล้ว ที่ได้รับทุนจากโครงการ Meet The Angel ของเราเพื่อต่อยอดธุรกิจ

 

  1. ทางธนาคารมีความคิดเห็นอย่างไร กับคำว่า “ สังคมไร้เงินสด ” และจะพลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสดได้อย่างไรบ้าง

เราสนับสนุนให้ไทยเป็น Cashless Society อยู่แล้ว เรามุ่งมั่นที่ช่วยตั้งแต่การใช้ QR หรือ Promptpay จนกระทั่งตอนนี้ เราก็กำลังออก QR บัตรเครดิตให้กับร้านค้าที่ไม่จำเป็นต้องลงเครื่องบัตรเครดิต และได้ไปทดลองใช้งานที่ Homepro โดยลูกค้าสามารถใช้มือถือสแกนเพื่อจ่ายเงินผ่านแอปที่เราทำขึ้นได้เลย ทางด้านเทคโนโลยีอื่นๆ ตอนนี้เราก็กำลังทดลองอยู่ในแลป อย่างเช่น Face Payment ที่ลูกค้าสามารถใช้ใบหน้าเพื่อจ่ายเงินได้ แต่ยังต้องใช้รหัส PIN เพื่อยืนยันตัวตนอยู่เหมือนเดิม ซึ่งในปีหน้าเราอาจจะได้เห็นบริการนี้กัน นอกจากนั้นเรายังมุ่งมั่นและพลักดันให้กับด้านโลจิสติกส์ด้วย โดยเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อ Launch Business Model ออกมา เพราะในปัจจุบันคนไทยยังชอบจ่ายแบบ Cash On Delivery (COD) อยู่ เนื่องจากคนไทยต้องการความมั่นใจก่อนว่าสินค้าได้จัดส่งถึงที่บ้านแล้วจริงๆ ซึ่งต่อไปเราก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงินสดก็ได้ แค่สแกน QR แล้วจ่ายเงิน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราพยายามพลักดันให้เกิดสังคมออนไลน์อย่าง Cashless ขึ้นจริงๆ

 

  1. สิ่งใดคือความท้าทายของสถาบันการเงิน ณ ปัจจุบัน

ความท้าทายมีอยู่หลายเรื่อง คือ

  1. เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี กำลังจ่ายของผู้บริโภคก็ลดลง ถ้าอยู่ในลักษณะของสินเชื่อบุคคล หรือบัตรเครดิต ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้
  2. ผลกระทบต่อหนี้เสีย ที่เราเผชิญอยู่เป็นอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนก็มีกำลังจ่ายน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือนิติบุคคล ก็จะเริ่มจ่ายเงินยากยิ่งขึ้น
  3. เทคโนโลยีที่เป็นสตาร์ทอัพ หรือบริษัท Tech Firm จริงๆเราไม่ได้กลัวที่สตาร์ทอัพจะมาแข่งขันกับทางธนาคาร เพราะวันนี้สตาร์ทอัพจะเข้ามาทำงานร่วมกันกับธนาคาร แต่ในต่างประเทศก็มีสตาร์ทอัพบางประเภทที่เข้ามาแข่งขันกับธนาคารโดยตรง เช่น บริการโอนเงินของเหล่า Payment Gateway ต่างก็ใช้ Omise หรือ 2C2P กัน จึงไม่ได้ใช้ของธนาคาร เป็นผลมาจากการที่ลูกค้าได้ย้ายบริการเหล่านี้ไปที่ฟินเทคสตาร์ทอัพ ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีสตาร์ทอัพที่ทำตัวเป็นธนาคารเลย เรียกว่า Digital Challenger Bank; Digital Bank หรือ Challenger bank หรือ NeoBank ที่ไม่ได้มาในรูปแบบของธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่มาในรูปแบบของบริการที่เหมือนธนาคาร โดยให้บริการออนไลน์เช่นเดียวกัน และง่ายกว่า เริ่มจากมีไม่กี่ผลิตภัณฑ์ แล้วก็ไปผูกพันธมิตรร่วมกับบรรดาฟินเทคด้วยกัน เช่น Revolut, M26, Monzo ที่คน Gen Y และ Gen Z มานิยมใช้กัน แต่ก็ต้องบอกว่าอาจจะไม่ใช่แบงก์หลักที่มีไว้เก็บเงิน เพราะพวกเขายังต้องการความปลอดภัย และความมั่นใจอยู่ แต่ถ้าถามถึง ไลฟ์สไตล์การใช้งานที่ง่าย หรือค่าธรรมเนียมที่ถูก คนเหล่านี้ถึงจะไปใช้บริการ

ความน่ากลัวของ Workforce ที่มีผลกระทบต่อธนาคาร

หากทางธนาคารมีการประกาศจะลดจำนวนสาขาลง คนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ หรือคนที่เกษียณอาจจะต้องออกไป และในตำแหน่งนั้นธนาคารอาจไม่หาคนใหม่เข้ามา แต่จะถูกทดแทนด้วย Robot เพราะงานบางอย่างที่ต้องทำเป็นประจำ หรือทำซ้ำๆ สามารถใช้ Robot, RPA หรือ AI ได้ ส่วนคนเก่าจะมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ Re-skill ตัวเองไปทำงานอื่น หรือถอดใจแล้วลาออกไป สิ่งนี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งที่กรุงศรีฯ เองเราก็มีการลดจำนวนคนลง อย่างในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการ ที่เราให้ลูกค้าทำบริการเอง เช่น Self Service หรือ Mobile App ทำให้กระบวนการเหล่านี้มันถูกทำให้เป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานเท่าเดิมก็ได้ ซึ่งธนาคารก็รู้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า รายได้จะโตน้อยกว่าเมื่อก่อน เพราะในปัจจุบันเราถูกสิ่งแวดล้อมบังคับ ทำให้ไม่สามารถโตได้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดดอกเบี้ยธนาคาร บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ ที่ลดลงไปถึง 3-4 % ดอกเบี้ยจึงหายไปประมาณ 10-20 % ในรายได้ของดอกเบี้ย หรืออย่างเมื่อก่อนธนาคารเคยเก็บค่าธรรมเนียม เมื่อมีการโอนเงินระหว่างธนาคาร แต่ในวันนี้กลับไม่ได้เก็บเลย รายได้ที่คิดว่าจะมาทดแทนอย่างการโอนเงิน การจ่ายแบบ Cashless ที่มีข้อมูลมากขึ้น เราก็ยังไม่สามารถเอามาขายได้ทันที ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงทำให้รายได้ของธนาคารลดลง แต่ธนาคารก็ยังอยากที่จะมีรายได้อย่างน้อยเท่าเดิม เลยจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับด้าน Workforce ด้วย ดังนั้นสัดส่วนของสตาร์ทอัพในการดูแลลูกค้าจึงมีประสิทธิภาพกว่า ประหยัดกว่า เพราะใช้คนในการให้บริการน้อยกว่าธนาคาร

 

  1. ธนาคารกรุงศรีจะมีผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ มาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันอย่างไร

เราทำงานร่วมกันกับสตาร์ทอัพ แล้วก็พาร์ทเนอร์ที่เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี รวมทั้งบริษัทใหญ่ๆที่กำลังเติบโต เพื่อมาทำในเรื่องของ Information Base Lending โดยนำฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่มาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ เช่นเดียวกันถ้าเรามองไปในกลุ่ม SME ทางด้าน Supply chain เราก็ทำเหมือนกัน คือ สร้าง Blockchain ขึ้นมา แล้วให้ระบบมันจัดการให้แบบอัตโนมัติ หลายๆอย่างจึงรวดเร็วขึ้น เช่น Workflow ของบริษัทที่เห็นภาพการทำธุรกรรมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากจุดนี้เองธนาคารก็มองเห็นรายได้ จึงไปจับมือกับ E-Commerce เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่บน Platform ไม่นับกรณีที่ธนาคารในเมืองไทยก็อยากจะเป็น Super App เพราะธนาคารมีข้อมูลอยู่แค่มิติเดียว คือ มุมมองจากคนที่มีเงินจ่าย คนที่มีเงินฝาก หรือคนที่มีเครดิตสินเชื่อ ทำให้เราไม่เคยมองในมุมอื่นเลย ถ้าหากมี Super App นี้เข้ามา ก็จะช่วยตอบโจทย์ได้ว่าลูกค้ามีพฤติกรรมอื่นๆอย่างไรบ้าง ที่เราสามารถนำมาทำในเรื่องของ Credit Scoring ให้กับเขา เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้นได้ หรืออย่างบางธนาคารก็อยากรู้ว่าลูกค้าชอบไปช็อปปิ้งอะไร ซื้อสินค้าอะไรเยอะ เราก็จะเข้าใจและเรียนรู้ในพฤติกรรมของลูกค้าจากสิ่งที่เขาใช้เป็นประจำ จะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เขาถูก เราเองก็ได้เห็นอะไรบางอย่างได้มากขึ้น

 

  1. ธนาคารกรุงศรีมองว่าวงการสตาร์ทอัพในประเทศตอนนี้เป็นอย่างไร และควรให้การสนับสนุนในด้านใด

สตาร์ทอัพในประเทศไทย ตัวใหญ่อย่าง Series A ขึ้นไป ถือว่ายังไปต่อได้ มีการได้รับเงินลงทุนอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้หวือหวามาก เหตุผลเป็นเพราะว่ากองทุนทั้งหลายอย่าง Corporate Vendor Capital จากธนาคารต่างๆมีเงินพร้อมที่จะลงทุน แต่ติดปัญหาตรงที่ไม่ค่อยมีสิ่งที่น่าสนใจให้ไปลงทุน ทำให้ความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ไม่ค่อย Match กันเท่าไหร่ แล้วยิ่งทางต่างประเทศที่อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย แต่สินค้าหรือสตาร์ทอัพเรายังมีไม่มาก จึงทำให้เกิดช่องว่าง หรือจุดที่สตาร์ทอัพจะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไป และอีกเหตุผลหนึ่งที่เรากังวล คือ สตาร์ทอัพไทยใน Early Stage หรือ Pre-Seed เริ่มมีน้อยลง การจะเติบโตเป็นระดับสูงๆ ก็เริ่มยากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเราขาดการสนับสนุนที่ถูกต้อง สตาร์ทอัพไม่ได้รับฟัง Pain Point จากตลาดอย่างลูกค้าที่เป็น B2C หรือ B2B แล้วเราก็ไม่มีศูนย์บ่มเพาะ หรือว่า Incubator เช่นแต่ก่อน มันก็เลยทำให้ไม่มีความตื่นเต้นในวงการเกิดขึ้น ว่าใครจะมาเป็นตัวขับเคลื่อน จึงเป็นสิ่งที่เราค่อนข้างเป็นห่วง

อย่างที่ทราบกันว่า สิ่งที่เราพอจะช่วยได้ จากการได้รับฟังข้อคิดเห็นจากสตาร์ทอัพที่อยากจะหาผู้ลงทุน และทางฝั่งนักลงทุน ทั้งแบบ VC หรือว่า Angel เอง ที่อยากจะลงทุนในสตาร์ทอัพแต่ไม่รู้ว่าต้องลงทุนเมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร เราจึงแก้โจทย์นี้ โดยจัดทำโครงการขึ้นมา เพื่อให้ทั้งสองฝั่งได้มาเจอกัน แล้วก็ลงทุน และในอนาคตเราก็มีความคิดภายในธนาคารว่าอยากจะจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพเลย ซึ่งผู้ลงทุนไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ซื้อหน่วยลงทุนที่จะไปลงทุนในสตาร์ทอัพ

 

คุณแซม ตันสกุล

กรรมการผู้จัดการ

บริษัท กรุงศรีฟินโนเวต จำกัด

Related Posts

  • ทำไมคนไทยไม่ค่อยลงทุน ?
  • Covid-19 ตัวเร่งการเข้าถึงเทคโนโลยี และการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่อย่าง Kasikorn Bank
  • T2P ผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการเงินอย่างครบวงจร
bt_bb_section_bottom_right_section_coverage_image

Contact Us

Address

439B-1 Siam Paragon Shopping Mall, 4th Floor, Rama 1 Road, Pathumwan, Pathumwan, Bangkok, Thailand 10330

The information contained in this website is provided for informational purposes only and on an “as is” basis, without representation or warranty of any kind. Thai Fintech Association does not guarantee whether the information is correct or up-to-date.   no event shall Thai Fintech Association be liable to you or any person for any loss of business or profits, or for any indirect, incidental or consequential damages arising out of any use of, or inability to use, or for any other claim by you or any other person.

© Copyrights 2021 - All Rights Reserved - Thai Fintech Association