ในปีหน้า 2018 ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมฟินเทคของประเทศไทย จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วย e-KYC และ Digital ID จากการศึกษาสาเหตุหลักที่ทำให้ฟินเทคเติบโตเป็นอย่างมากทั่วโลก อันดับ 1 นั้นมาจาการเปิดบัญชีที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และสาเหตุรองลงมาคือมาจากการที่ค่าธรรมเนียมถูกลง หรือการได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (ที่มา https://www.dealsunny.com/blog/fintech-digitally-disrupting-the-financial-world-infographic)
และในเร็ว ๆ นี้การเกิดขึ้นของ e-KYC (กระบวนการในการรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์) ร่วมกับ National Digital ID Platform (ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) น่าจะป็นตัวปลดล็อคครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศไทยให้การใช้เทคโนโลยีสำหรับธุรกรรมทางการเงินเติบโตอย่างก้าวกระโดด
สำหรับ Digital ID ล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ได้มีการวางแผนว่าในปีหน้า ครึ่งปีแรกจะมีการพัฒนาระบบ Digital ID platform และครึ่งปีหลัง เริ่มให้มีการยืนยันตัวตนในภาคการเงิน และภาครัฐบางส่วน
โดยขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ได้แบ่งกระบวนการที่สำคัญออกเป็น 2 กระบวนการ ได้แก่ การลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตน (Enrolment and Identity Proofing) และ การยืนยันตัวตน (Authentication and Lifecycle Management) (ที่มา http://www.digitalid.or.th/)
เราไปดูในทางปฏิบัติในรายละเอียดกันสักนิดครับ การลงทะเบียนและพิสูจน์ตัวตน ถ้าเราสนใจที่จะเปิดบัญชีบนโลกออนไลน์ ต้องเริ่มด้วยการสมัครใช้งานกับผู้ให้บริการอัตลักษณ์ (Identity Provider: IDP) ซึ่ง IDP จะมีหน้าที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนในโลกออนไลน์ และตัวตนในโลกความเป็นจริงของผู้สมัคร ซึ่งเมื่อผู้สมัครผ่านการพิสูจน์ตัวตนเรียบร้อย ผู้สมัครจะมีสถานะเป็นผู้ใช้บริการที่ได้รับการรับรองข้อมูลโดย IDP และได้รับ user name หรือเลขประจำตัวผู้ใช้บริการ และสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตน (credential) เพื่อนำไปใช้ในการยืนยันตัวตนต่อไป
การยืนยันตัวตน (Authentication) เมื่อถึงเวลาใช้งานจริง เช่น เวลาจะเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ เช่น บัญชีสินเชื่อ บัญชีหุ้น บัญชีกองทุน กรมธรรม์ประกันภัย ผู้ใช้บริการต้องติดต่อไปที่ ผู้ขอใช้อัตลักษณ์ (Relying Party: RP) และทำการยืนยันตัวตนกับผู้ให้บริการอัตลักษณ์ (IDP) ผ่านวิธีการยืนยันตัวตนที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ทั้งนี้สิ่งที่ใช้ในการยืนยันตัวตน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- สิ่งที่คุณรู้ (What you know) เช่น username, password
- สิ่งที่คุณมี (What you have) เช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต หรือการใช้ pin code ด้วยโทรศัพท์มือถือ
- สิ่งที่คุณเป็น (What you are) เช่น ลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา ใบหน้า หรือเสียง เป็นต้น
ซึ่งการยืนยันตัวตนแต่ละระดับอาจใช้ปัจจัยเดียว (Single Factor) หรือถ้าเข้มงวดมากขึ้นอาจต้องใช้หลายปัจจัยประกอบกัน (Multi Factor)
เมื่อกลไกของ Digital ID นำมาใช้ประกอบกับการทำ e-KYC ซึ่งรับรองโดย พระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (พ.ร.บ.ฟินเทค) ที่มีแนวโน้มจะคลอดอย่างเป็นทางการในปี 2018 ที่กำลังจะมาถึงนี้เช่นกัน โดย พ.ร.บ. ได้ระบุรับรองเรื่องการแสดงตัวตน หรือ KYC นั้นสามารถทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแบบไม่ต้องเห็นหน้า (non face to face) ได้ แม้จะไม่ได้ไปแสดงตัวตนด้วยตัวเองต่อหน้าผู้ให้บริการทางการเงิน
ในวันนี้ คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน ทุกวันนี้ยังต้องกู้เงินจากนายทุนดอกเบี้ยแพง ๆ คนไทยกว่า 90% ยังไม่เริ่มลงทุนเพราะไม่มีความรู้ หรือกลัวเจ๊ง แต่กลไกเรื่อง e-KYC ร่วมกับ Digital ID ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นตัวเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ และออนไลน์ได้ ซึ่งตอบรับกับพฤติกรรมในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นนับล้าน ๆ คน รวมไปถึงการได้รับความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณ์ฑและบริการทางการเงินที่ดีขึ้น เป็นเรื่องที่น่าติดตามมาก ๆ ในปี 2018 ที่กลังจะมาถึงนี้ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
FundTalk