ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของประเทศเกาหลีใต้ก็พึ่งพา หรือเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่หลายธนาคารของประเทศเกาหลีใต้ มีแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยนำมาปรับใช้กับบริการของธนาคารทั้งหลายเหล่านั้นเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร Shinhan, Woori, KEB Hana และ KB Kookmin ที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้
นอกจากการใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารดังที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีเทรนด์ที่น่าสนใจในประเทศเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเเละการเงินการธนาคาร ก็คือ การเริ่มต้นให้บริการของธนาคาร ในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank ตั้งเเต่ปีพ.ศ. 2560 โดย K-bank ที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท KT telecom (หลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ จากหน่วยงานทางด้านการเงินของประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีก่อนหน้า (พ.ศ.2559)) และตามมาด้วยการลงสู่สนามการให้บริการในลักษณะธนาคารที่ไม่มีสาขาของ Kakao bank ในเวลาต่อมา ที่ดำเนินกิจการโดยบริษัท Kakao ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน การดำเนินกิจการของธนาคารที่ไม่มีสาขา เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางของประเทศเกาหลีใต้เองในการให้การสนับสนุนนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ ผ่านทางการแก้ไขกรอบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจในลักษณะของ ธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ซึ่งก็มีสถิติที่น่าสนใจ เกี่ยวกับธนาคารที่ไม่มีสาขาในประเทศเกาหลีใต้ ภายหลังการเปิดให้บริการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาของ Kakao bank นั้น ปรากฏว่าภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง มีจำนวนผู้ใช้งานทีเปิดบัญชีกับ Kakao bank มากถึง 300,000 คน และจำนวนผู้ใช้งานที่เปิดบัญชีกับ Kakao bank ยังเพิ่มขึ้นถึงจำนวน 3.9 ล้านคนในเดือนกันยายนปีเดียวกัน และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สินเชื่อผู้บริโภค (Consumer credit loan) ของ Kakao bank ก็มีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงมากเทียบกับมูลค่าสินเชื่อในภาพรวมทั้งหมดของประเทศเกาหลีใต้
ประธานาธิบดีของประเทศเกาหลีใต้เอง ยังได้ออกมากล่าวต่อสื่อมวลชนว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง (deregulation) สำหรับธนาคารที่ไม่มีสาขานั้น สามารถนำไปสู่การเติบโตของนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการเงิน และนำไปสู่เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความน่าสนใจ ให้พิจารณากันต่อไปว่า ธนาคารที่ไม่มีสาขา จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และเติบโตไปมากน้อยแค่ไหน
แล้วประเทศเกาหลีใต้ทำอย่างไร ถึงสนับสนุนให้เกิดขึ้นซึ่งธนาคารที่ไม่มีสาขา ได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จในแง่ของยอดผู้ใช้งาน และมูลค่าของธุรกรรม?
ส่วนหนึ่งนั้น อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเกาหลีใต้นั้น ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันกันระหว่าง ธนาคารที่ไม่มีสาขากับธนาคารที่เป็นสถาบันการเงินแบบดั้งเดิม โดยกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไขนั้นได้อนุญาตให้ธนาคารที่ไม่มีสาขานี้ สามารถประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมได้ เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต หรือธุรกิจประกันภัย เป็นต้น และยังมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ในส่วนอื่น ยกตัวอย่างเช่น การผ่อนปรนข้อกำหนดเกี่ยวกับการยืนยัน หรือระบุตัวตนที่ต้องทำต่อหน้า (face-to-face identification) ในการเปิดบัญชีธนาคาร ทั้งมีการอนุญาตให้มีการใช้วิธีการในการระบุตัวตนแบบอื่นๆ เช่น การใช้สำเนาบัตรประชาชน การใช้วีดิโอคอล การใช้ข้อมูลที่มีอยู่กับธนาคารในบัญชีธนาคารที่มีอยู่แล้วเดิม เป็นต้น
ในเดือนกันยายนปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา สภาของประเทศเกาหลีใต้ก็ผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวกับสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงิน (non-financial companies) ในธุรกิจประเภท ธนาคารที่ไม่มีสาขาดังกล่าว โดยเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงินเป็น 34 % ซึ่งแตกต่างจากหลักการที่กำหนดไว้ใน the Banking Act ของประเทศเกาหลีใต้ที่กำหนดไว้ว่า บริษัทที่ไม่ใช่บริษัททางด้านการเงินนั้นไม่สามารถถือหุ้นเป็นสัดส่วนมากกว่า 4% ได้ (มาตรา 16-2 ของ the Banking Act) แต่อย่างไรก็มีข้อยกเว้น เช่น กลุ่มแชบ็อล (Chaebol) (บริษัทขนาดใหญ่ทีหุ้นส่วนใหญ่ถูกถือครองโดยคนในครอบครัว) ไม่สามารถที่จะเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของได้ภายใต้หลักการที่กำหนดไว้ ซึ่งร่างกฎหมายข้างต้นมีวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ ธนาคารประเภทดังกล่าวนี้นั้นสามารถเพิ่มทุนได้ง่ายมากขึ้น
สืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ที่ธนาคารประเภทดังกล่าวนี้ ประสบกับปัญหาในการระดมทุนจากการขายหุ้นออกใหม่ ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากกฎหมาย the Banking Act ของประเทศเกาหลีใต้เองที่กำหนดเกี่ยวกับข้อจำกัดความเป็นเจ้าของในกิจการธนาคารที่ไม่มีสาขา สำหรับธุรกิจประเภทที่ไม่ใช่ธุรกิจ หรือบริษัททางด้านการเงิน
นอกจากนี้หน่วยงาน FSC ของประเทศเกาหลีใต้ ยังได้ออกมาแถลงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ได้มีแผนในการชวนให้ผู้เล่นหน้าใหม่ เข้ามาดำกิจการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาให้มากขึ้นในปีถึงสองปีที่จะถึงนี้
นอกจากนี้หากมองแนวโน้มในประเทศอื่นๆ บริษัท NAVER ที่เราอาจจะคุ้นชินว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ LINE แอพลิเคชั่นยอดนิยม ก็มีแผนที่จะเริ่มธุรกิจธนาคารที่ไม่มีสาขาเช่นเดียวกันในประเทศไต้หวัน แม้ว่าทางบริษัท NAVER เองจะออกมากล่าวว่าทางบริษัทไม่มีแผนในการที่จะประกอบธุรกิจเช่นเดียวกันนี้ ในประเทศเกาหลีใต้ก็ตาม
ซึ่งก็อาจจะเกิดคำถามว่า แล้วกรอบกฎเกณฑ์ หรือกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศไต้หวันนั้น ให้มีการดำเนินการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ Internet-only bank ได้หรือไม่?
ก็ต้องบอกว่าประเทศไต้หวันเองก็เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบทางด้านการเงินของประเทศไต้หวัน หรือ Financial Supervisory Commission (FSC) ก็ออกมาสนับสนุน ธนาคารที่ไม่มีสาขาดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการส่งเสริมนวัตกรรม และการเข้าถึงบริการทางด้านการเงิน โดย FSC ของประเทศไต้หวันเองก็มีการประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขาออกมาตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2561 เช่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว ข้อกำหนดเกี่ยวกับในเรื่องของผู้ก่อการ ที่กำหนดไว้ว่าเบื้องต้นว่าหนึ่งในผู้ก่อการจะต้องเป็นธนาคาร หรือ บริษัทโฮลดิ้งที่เกี่ยวกับการเงิน (Financial holding companies) เป็นต้น
ซึ่งก็เป็นที่น่าจับตาดูว่าในประเทศไทย แนวโน้มของการประกอบธุรกิจในลักษณะของธนาคารที่ไม่มีสาขา หรือ internet-only bank ดังกล่าว จะเป็นไปในทิศทางไหน
Reference
คุณปวีร์ เจนวีระนนท์ (อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Research Affiliate, Cambridge Centre for Alternative Finance)