ในยุค Thailand 4.0 นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน สังเกตได้จากการใช้เทคโนโลยี ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลโดยตรงกับการเลือกใช้บริการต่าง ๆ เพราะคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจะเน้นความสะดวก ความรวดเร็ว ความง่ายในการใช้บริการ ทั้งนี้อาจหมายถึงว่าองค์กรหรือผู้ให้บริการต้องมีการพัฒนาด้านบริการให้เข้ากับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกได้รับความสำคัญจากองค์กร และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมนี้ เกิดจาก 3 องค์ประกอบดังนี้
- การเติบโตของมือถือ
ในประเทศไทยตลาดมือถือ ถือได้ว่าเป็นตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การขยายตัวของมือถือมีมากกว่า 3.3 พันล้านเครื่องในเอเชีย ถ้าคิดเป็นต่อประชากรแล้ว หมายความว่าทุก ๆ 1 คนจะมีมือถือ 1 เครื่อง และในปี 2019 อัตราการขยายตัวของมือถือจะขึ้นไปอยู่ที่ 4.3 พันล้านเครื่อง หรือ 117 เครื่องต่อประชากร 100 คน ซึ่งทาให้อัตราการเติบโตของ Mobile internet สูงขึ้นอย่างมาก โดยใช้ระยะเวลาเพียง 1-2 ปีเท่านั้น และด้วยเทคโนโลยีทางมือถือที่มีแอพพิเคชั่นเข้ามาให้ความสะดวก ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนตามการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี
- การเติบโตของโซเชียลมีเดีย
ด้วยการขยายตลาดของมือถือที่รวดเร็ว นั้นก็หมายถึงว่าโซเชียลมีเดียก็เติบโตควบคู่ไปกับมือถือ การใช้บริการ Social Media จึงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทาให้ประชากรคนเอเชียกว่า 1 พันล้านคนเป็น Active users ใน Social Media โดย Facebook ระบุว่าตลาดเอเชียโตกว่า 50% ในปี 2014 และถือว่าเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุด ในไตรมาสแรกปี 2015 โดย Facebook ระบุว่ามี Active User ในเอเชียกว่า 451 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมประเทศจีน ซึ่งประเทศจีนนั้นมี Social media ของตัวเองอย่าง Weibo เข้าถึงคนกว่า 198 ล้านคน (เดือนมีนาคม 2015) เติบโตขึ้น 38% จากปีที่แล้ว และ 86% ของผู้ใช้ Weibo ใช้จากมือถือ สิ่งสำคัญคือ Social Media หรือ Social Network ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการให้บริการด้านข้อมูล การแลกเปลี่ยน การซื้อขายสินค้าได้
- การเติบโตของ Online Commerce
พบว่า ในเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับอเมริกา ทำให้ตลาด e-Commerce เอเชียกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ โดยในประเทศจีนนั้นการขายของห้างต่าง ๆ เกิดขึ้น 8% ในโลกออนไลน์ และคาดการณ์ว่าปี 2018 จะเติบโตสูงกว่า 16% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตภายในเอเชียเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการซื้อขายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ แต่เกิดขึ้นในโลกของ Mobile ด้วย นอกจากนี้การเติบโตของ Mobile Payment จะกลายเป็นเรื่องสำคัญใน e-Commerce Ecosystem และจะพัฒนาร่วมกับ Social Network ต่าง ๆ กลายเป็น s-Commerce มากขึ้น เช่น โปรแกรมแชทที่กลายเป็นช่องทางการติดต่อซื้อขาย และใช้ช่องทาง Mobile Payment ในการชำระสินค้า โดยที่ตัวผู้ขายเองไม่ได้มีหน้าร้าน
การมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ทำให้ทั้งตัวลูกค้าและผู้ประกอบได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะสามารถลดการใช้เวลาในการซื้อขาย ทั้งอำนวยความสะดวก และสามารถรับรู้ข้อมูลอีกฝ่ายได้แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นการแชทด้วยข้อความ พูดคุย ส่งไฟล์เสียง และวีดีโอคอล เหล่านี้เป็นเครื่องมือการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ซึ่งเมื่อมีการเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ จากผู้บริโภค การชำระค่าบริการต่าง ๆ ก็ต้องทำได้ง่าย และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งสถาบันการเงินต้องมีการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยีให้ทันสมัย จึงทำให้ฟินเทคเข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมธนาคาร
ฟินเทค เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาพัฒนายุค Thailand 4.0 เป็นการขับเคลื่อนแวดวงการเงิน และพัฒนาเศรษฐกิจ อันเป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน ซึ่งนวัตกรรมฟินเทคตอบสนองวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ประการ ดังนี้
- เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน
โดยการใช้การตลาดรูปแบบใหม่ที่สะดวกและง่ายขึ้น เช่น การโอนเงินระหว่างกันโดยตัดตัวกลาง (Peer-to-Peer Transfers) และการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Money) ก็เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิธีการโอนเงิน และโอนสินทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่สูงขึ้น และต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม
- การเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมมูลค่าสูงด้วยระบบอัตโนมัติ
การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ซึ่งระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ ระบบประมวลผลแบบกลุ่ม Cloud Computing และการแบ่งปันสมรรถภาพระหว่างองค์กร เป็นกลุ่มนวัตกรรมที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานแก่ธุรกิจ นอกจากนี้ระบบการให้คำแนะนำและการบริหารความมั่งคั่งแบบอัตโนมัติ (Automated Advice and Wealth Management) และการส่งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติ สำหรับนักลงทุนรายย่อย (Retail Algorithmic Trading) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับความสามารถของนักลงทุน
- การตัดตัวกลางทางการเงิน
การแข่งขันผู้ให้บริการนวัตกรรมทางการเงินมักดึงดูดผู้ใช้บริการด้วยค่าบริการที่ถูกลง และการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงทำให้เกิดการตัดตัวกลางทางการเงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักที่ผู้ประกอบการใช้ลดต้นทุนของธุรกรรม โดยมีช่องทางการชำระเงินรูปแบบใหม่ ทั้ง 3 รูปแบบ ได้แก่ สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) การโอนเงินระหว่างกันโดยตัดตัวกลาง (Peer-to-Peer Transfers) และการใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Money) คือตัวอย่างที่ชัดเจนของการตัดตัวกลางทางการเงิน ออกจากระบบชำระเงิน ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้นวัตกรรมการกระชับกระบวนการ (Lean Processes) และการกู้ยืมระหว่างกันโดยตรงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ (Peer-to-Peer Lending) ก็เป็นบริการที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการประเมิน และอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้หลักของสถาบันการเงินในปัจจุบัน
- การสร้างข้อมูลเพิ่มจากรากฐานข้อมูลขนาดใหญ่
ข้อมูลด้าน Machine Accessible Data ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence / Machine Learning) และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นนวัตกรรมที่ช่วยขยายรายละเอียดของข้อมูล ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการเข้าถึงโอกาสการลงทุนสูงขึ้น ทั้งยังมีกลุ่มข้อมูลใหม่ คือ ข้อมูลทางสังคม (Social Data) ที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น นอกจากนี้การจัดเก็บและพัฒนาฐานข้อมูล อีกทั้งได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมอุปกรณ์แบบสวมใส่ (Wearable Devices) ระบบเซ็นเซอร์ที่ดีขึ้นและราคาถูกลง (Smarter and Cheaper Sensors) เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานกับอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ (Internet of Things)
- การนำเสนอสินค้าและบริการเฉพาะกลุ่ม
เทคโนโลยีทำให้ต้นทุนการพัฒนาสินค้าและบริการต่ำลง ผู้ประกอบการจึงมีโอกาสสร้างธุรกิจ จากช่องว่างทางการตลาด อาจเป็นเพราะกลุ่มเป้าหมายน้อยเกินไปและมีโอกาสน้อยในการหากำไร ทำให้ธนาคารต้องมีการธนาคารรูปแบบใหม่ เช่น ธนาคารเสมือน 2.0 (Virtual Banking 2.0) การเชื่อมต่อฐานงานธนาคาร (Banking as Platform) และการทำธุรกรรมทางธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือ (Evolution of Mobile Banking) เป็นนวัตกรรมที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค
- การเพิ่มศักยภาพของลูกค้า
เทคโนโลยีช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงหลักทรัพย์และการบริการที่หลากหลาย ซึ่งเคยถูกจำกัดด้วยความคุ้มค่าของการทำธุรกรรม ช่วยเพิ่มอำนาจการตัดสินใจจากคุณภาพ และปริมาณของข้อมูล รวมทั้งระบบการวิเคราะห์ข้อมูล และการให้คำแนะนำที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้นถือว่าเป็นเรื่องดีของคนในยุคเทคโนโลยีเป็นอย่างมากกว่า ซึ่งนวัตกรรมฟินเทคสามารถตอบสนองความต้องการของคนในยุคนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นและวุ่นวายอีกต่อไป…ก้าวไปอย่างไม่หยุดยั้ง…ด้านวัตกรรมฟินเทค
Reference
พรชัย ชุนหจินดา. (2560). ฟินเทค (FinTech) เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศไทย 4.0. เข้าถึงได้จาก http://e-jodil.stou.ac.th/Page/ShowPaPer.aspx?idindex=592.
อิสราภรณ์ ทิพย์คำ. (2559). เมื่อฟินเทคก้าวเข้ามาในธุรกิจธนาคาร (2). ศูนย์วิจัยและพัฒนา, กรุงเทพฯ.