หลายเดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ร่วมร่าง พรบ.ฟินเทคในนามสมาคมฟินเทคประเทศไทย โดยผมเชื่อว่าพรบ. ฉบับนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่ออุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และเป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนในหลายมิติ
หลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน (ที่มา senate.go.th)
โดยที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบการเงินและเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด อำนวยความสะดวกแก่การประกอบธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสามารถผลักดันประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อให้เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยข้อมูลเหล่านี้บางส่วนอยู่ในความครอบครองของเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในบางกรณีมีข้อจำกัดในการเข้าถึงหรือการให้ข้อมูล ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน ดังนั้น เพื่อแก้ไขอุปสรรค ดังกล่าว สมควรมีกฎหมายเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ตลอดจนการทำธุรกรรมด้วยวิธีการทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์วิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง และเพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงินโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ประโยชน์ของพรบ.ฟินเทค ที่จะมีต่อทั้งผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ดังนี้
เข้าถึง – คนไทยจำนวนมากยังไม่เข้าถึงบริการทางการเงิน ทุกวันนี้ยังต้องกู้เงินจากนายทุนดอกเบี้ยแพง ๆ คนไทยกว่า 90% ยังไม่เริ่มลงทุนเพราะไม่มีความรู้ กลัวเจ๊ง แต่พรบ.ฉบับนี้เปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเปิดบัญชีผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ และออนไลน์ได้ ซึ่งเรียกว่าการแสดงตัวตนทางอิเล็คทรอนิกส์ หรือ e-KYC ซึ่งตอบรับกับพฤติกรรมในปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นนับล้าน ๆ คน รวมไปถึงการได้รับความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้น (ดูมาตรา 16 – 17 เรื่องการเปิดเผยข้อมูล และการยืนยันตัวตนแบบอิเล็คโทรนิกส์)
ตอบโจทย์ – เราผ่านพ้นยุคน้ำมันเข้ามาสู่ยุคของ “ข้อมูล” พรบ.ฟินเทค เปิดโอกาสให้ทั้งหน่วยงานรัฐฯ และเอกชนสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมาก โดยต้องผ่านการปกปิดตัวตน (Anonymize) ส่งผลให้เกิดการทำธุรกิจโดยขับเคลื่อนจากวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) คือการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ประโยชน์สุดท้ายจะตกกับผู้บริโภคทุกคนที่ได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น หวังว่าอีกหน่อยคงจะเลิกโทรมาขายอะไรที่เราไม่ต้องการซักที (ดูมาตรา 18 – 25)
สะดวก – ถ้าพรบ.ฉบับนี้ถูกนำมาใช้กันอย่างจริงจัง แทบทุกธุรกรรมการเงินการลงทุนจะทำได้อย่างสะดวกมากผ่านมือถือ และออนไลน์ ทั้งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน ธุรกรรมหลักทรัพย์ ประกันชีวิต นับตั้งแต่การเปิดบัญชีธนาคาร สินเชื่อ ประกัน กองทุน หุ้น ฯลฯ การทำธุรกรรมทุกชนิดสามารถทำผ่านอิเล็คทรอนิคส์ได้ รวมไปถึงการประชุมผู้ถือหุ้น การมอบฉันทะ ทำประกันรถยนต์ ฯลฯ (ดูมาตรา 15)
ปลอดภัย – พรบ.นี้จะมีส่วนสำคัญในการนำพาสังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น (Cashless Society) ซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องพกเงินสด และเก็บเงินสดไว้ในบ้านอีกต่อไป และแน่นอนว่าการปล้น และอาชญากรรมต่าง ๆ ของประเทศก็จะลดลง
สุดท้าย ท่านผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบธุรกิจด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน ได้ที่ http://www.senate.go.th/w3c/senate/spaw2/uploads/files/FinTech_4Hearing_AS_170829.pdf
ขอบคุณข้อมูลจาก
คุณเจษฎา สุขทิศ (นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย)