เราเข้าสู่ยุคที่คนรุ่นใหม่ และรุ่นเก๋าต่างอยากออกมาเป็นผู้ประกอบการกันมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
คำว่า Startup นั้นเพิ่งเกิดขึ้นในโลก และเมืองไทยไม่กี่ปี ข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมล่าสุดพบว่ามีจำนวนสตารท์อัพไทยเพิ่มขึ้นกว่า 8,000 รายในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่จำนวน SME บ้านเรามีเกินกว่า 3 ล้านรายเข้าไปแล้ว วันนี้จะพาไปดูกันครับว่า 4 ทักษะที่ผู้ประกอบการ Startup และ SME มีอะไรกันบ้าง
1. ด้านการเงิน (Finance)
ความรู้ด้านการเงินจัดเป็นความรู้พื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี เริ่มตั้งแต่การเข้าใจในการอ่านงบการเงิน และการวิเคราะห์งบการเงิน การทำบัญชีนั้นเป็นสิ่งที่ทุกกิจการต้องทำ ในช่วงเริ่มต้นที่กิจการยังไม่ใหญ่โต เราสามารถจ้างบริษัทให้ทำบัญชี และสอบบัญชีให้เราได้ แต่ผู้ประกอบการควรจะอ่านงบเป็น ในเบื้องต้นคืองบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้างของฐานะการเงิน กระแสเงิน และความสามารถในการทำกำไรของกิจการของเราเอง
นอกจากเรื่องการวิเคราะห์งบการเงินเบื้องต้นแล้ว ถ้าเป็นผู้ประกอบการ Startup ก็จะมีเรื่องการประเมินมูลค่ากิจการ (Valuation) และการระดมทุน (Fund Raising) ที่นับเป็นเรื่องสำคัญ การ Valuation ของธุรกิจ Startup นั้นจัดว่ามีศาสตร์ และศิลป์ที่แตกต่างจากกิจการทั่วไป เพราะโดยส่วนใหญ่ธุรกิจ Startup จะมีการระดมทุนเป็นรอบ ๆ และระดมทุนโดยที่ยังไม่มีกำไรในช่วงแรก โดยตัวชี้วัดในช่วงแรกอาจเป็น Tractions หรือจำนวนผู้บริโภคที่เข้ามาทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์ และบริการของเรา เป็นต้น
2. ด้านกฎหมาย
เรื่องกฎหมายหลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว และยาก แต่พูดได้เลยว่ามีความสำคัญมาก ๆ ทีเดียวสำหรับการจะเป็นผู้ประกอบการ เช่น ในการก่อตั้งกิจการครั้งแรก ผู้ถือหุ้นในรุ่นก่อตั้งโดยปกติจะเป็นหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิ์เท่า ๆ กัน แต่ถ้าเข้าใจเรื่องกฎหมายดีพอก็ควรที่จะทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ที่กำหนดเงื่อนไขในการทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มก่อการ ซึ่งจะช่วยได้มากในการกำหนดทิศทางของบริษัท และขจัดข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การจะไปเป็น partnership กับบริษัทอื่น ๆ ก็เช่นกัน สามารถทำได้หลายระดับตั้งแต่การเป็น Business partner ธรรมดา การมีโครงการร่วมทุนระหว่างกัน ไปจนถึงการตั้งบริษัทใหม่และมี partner ทั้งสองฝ่ายเข้ามาถือหุ้นร่วม ความเข้าใจทางกฎหมายที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบข้อดีข้อเสียของการจัดตั้ง partnership แต่ละแบบได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ประกอบการ Startup ยังมีเรื่องกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องรู้ เช่นการทำ term sheet & shareholders agreement สำหรับการระดมทุน ซึ่งมีรายละเอียดและมีข้อกำหนดเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น Liquidation Preference, First Right of Refusal, Drag Along / Tag Along ไปจนถึงการกำหนด Stock Option ให้กับกรรมการและทีมงาน เรื่องเหล่านี้จัดเป็นหัวใจที่สำคัญของการระดมทุนของธุรกิจ Startup เลยทีเดียว
3. ด้านเทคโนโลยี
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีคือตัวขับเคลื่อนสำคัญของทุกธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการที่มีข้อมูลเยอะ และวิเคราะห์ข้อมูลเป็น มีโอกาสสูงมากที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการเองก็ควรมีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Blockchain ที่เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
ประสบการณ์ผู้ใช้ของผู้บริโภคทุกวันนี้ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้ประกอบการที่สามารถออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience) ได้ดีจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบมาก ๆ ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัลอย่างในปัจจุบัน
4. ทักษะสำคัญอื่น ๆ
นอกจาก 3 ความรู้สำคัญข้างต้นแล้ว ยังมีทักษะสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการทั้ง Startup & SME ควรรู้ เช่นการเขียนแผนธุรกิจ การวางกลยุทธ์ขององค์กร ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางของบริษัทในระยะยาว การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร
ทักษะในการนำเสนอก็เป็นอีกเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการ pitching ให้กับนักลงทุนในกรณีที่มีการระดมทุนกับนักลงทุน VC หรือ Angel Investors ซึ่งการ Pitching นี้เองเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญ เป็น Skill ที่ผู้ประกอบการควรรู้เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จในการ Pitching ให้ได้ตรงตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ทางสมาคมฟินเทคประเทศไทยได้มีการจัดหลักสูตร “4 เสาหลัก – ก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพชั้นยอด” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จะมาปูรากฐานในหัวข้อต่าง ๆ ที่สำคัญ ที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและเทคโนโลยี ผู้บริหารหรือพนักงานขององค์กรควรจะรู้ เพื่อนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้จริง ท่านที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://thaifintech.org/4-pillars-courses/
เจษฎา สุขทิศ (นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย)