กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและเข้มข้นของนวัตกรรมทางการเงิน หรือที่พูดติดปากกับคำว่า “ฟินเทค” ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในฟากอุตสาหกรรมฟินเทคสาย “การลงทุน” ก็กำลังได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยการกำกับดูแล ในการนำพาให้เกิด “ผู้ให้คำแนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระ” ซึ่งในที่นี่หมายถึงทั้งผู้แนะนำการลงทุนที่เป็นบุคคล และผู้แนะนำการลงทุนที่ใช้สมองกล (Robo-Advisor)
ทางสมาคมฟินเทคประเทศไทย ร่วมกับผู้ประกอบการฟินเทคด้านการลงทุน และผู้ประกอบการนักวางแผนการเงินได้มีโอกาสร่วมประชุมกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 โดยเนื้อหาของการประชุมโดยสรุป มีดังนี้
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนยังขาดแคลนผู้ให้บริการคำแนะนำการลงทุนที่มีความเป็นอิสระจากผู้ออกตราสาร โดยผู้ให้คำแนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระมีเพียง 5% จากจำนวนทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้คำแนะนำการลงทุนในบางกรณีอาจมีความโน้มเอียงไปยังความต้องการออกตราสาร มากกว่าการยึดเอาประโยชน์สูงสุดของนักลงทุน ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงให้การสนับสนุนในการ “เปิดพื้นที่” ให้เกิดมีบริษัทที่ทำธุรกิจผู้ให้คำแนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระให้มากขึ้น โดยเป็นการผ่อนคลายเกณฑ์ลงจากปัจจุบันเพื่อให้การประกอบธุรกิจผู้ให้คำแนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระ รวมถึงการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนสามารถทำได้ง่ายขึ้น สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้ ที่นี่ (เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 9 ม.ค. 60)
เมื่อเรามาดูตัวอย่างในต่างประเทศเช่นรูปต่อไปนี้เป็นการกระจายตัวของผู้แนะนำการลงทุนในประเทศอังกฤษ เราจะพบว่าจำนวนผู้แนะนำการลงทุนส่วนใหญ่ถึงประมาณ 2 ใน 3 เป็นผู้แนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระ ต่างกับกรณีของบ้านเราที่ส่วนใหญ่ผู้แนะนำการลงทุนจะสังกัดสถาบันการเงินผู้ออกตราสาร
ที่มา Association of Personal FA , UK
การนำพาให้เกิดครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการแนะนำการลงทุนบ้านเรา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนหันมาทำอาชีพแนะนำการลงทุนมากขึ้น ให้คำแนะนำการลงทุนที่เป็นอิสระ ซึ่งแน่นอนจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนที่จะได้รับคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ยังมีแนวทางจัดทำ Regulatory Sandbox เพื่อรองรับนวัตกรรมด้านการลงทุนใหม่ ๆ ที่เกิดขี้นอย่างเข้มข้นในยุคฟินเทคเช่นปัจจุบัน โดยทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจเริ่มนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเกิดขึ้นของ Regulatory Sandbox หรือการอนุญาตให้ผู้ประกอบการที่มีไอเดียใหม่ ๆ ได้ “ทดสอบ และพัฒนา” ผลิตภัณฑ์ตนเองภายใต้ความเสี่ยงที่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นอีกตัวขับเคลื่อนสำคัญ โดยในที่นี้โครงการ SEC Sandbox ระยะแรก จะเริ่มต้นสำหรับผู้ต้องการทดลองในธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน (IA) และกองทุนส่วนบุคคล (PF) หากท่านสนใจรายละเอียดสามารถดูเพิ่มเติมได้ ที่นี่ (เปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 9 ม.ค. 60)
โดยล่าสุดเป็นที่น่ายินดี จากการรวบรวมของสมาคมฟินเทคประเทศไทย มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมแล้วกว่า 20 บริษัท ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณการพัฒนาที่ดีสำหรับธุรกิจฟินเทคด้านการลงทุนบ้านเรา โอกาสหน้าหลังจากมี Sandbox เกิดขึ้นแล้วผมจะมาเล่ารายละเอียดให้อีกครั้ง สำหรับวันนี้ ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
เจษฎา สุขทิศ, CFA
(รักษาการ) นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย