จบงานไปอย่างงดงามกับงาน TFTA Forum ครั้งที่ 4 ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ด้านกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล ภายใต้ชื่องาน “Digital Asset Talk เจาะจนเข้าใจเรื่องกฎหมายเงินดิจิทัล” โดยได้นักกฎหมายจากบริษัทกฎหมายชื่อดังในประเทศไทย อาทิ BakerMcKenzie, DFDL และ Tilleke & Gibbins ซึ่งในงานยังมีอีก 2 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ มากประสบการณ์ และลงสนามในหัวข้อดังกล่าวจริง อย่าง ดร.ภูมิ ภูมิรัตน (ที่ปรึกษาสมาคมฟินเทคประเทศไทย) และ คุณทิพยสุดา ถาวรมร (รองเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.) โดยงาน TFTA Forum ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลา 14.30-17.00 น. ณ. MCFiVA ชั้น 22 Gaysorn Tower
สมาคมฟินเทคประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาและผลักดันอุตสาหกรรมฟินเทคของประเทศไทย โดยมี กรณ์ จาติกวณิช เป็นประธานสมาคม ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของสมาคมคือเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือผู้พัฒนาฟินเทค เน้นการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการเงินให้แก่สาธารณะ ภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่วนอุตสาหกรรมทางการเงินและที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้สนใจในนวัตกรรมฟินเทคที่จะช่วยร่วมสร้างระบบนิเวศน์ที่แข็งแกร่ง อันจะเกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตลาดเงินตลาดทุนและประเทศชาติ
ในหัวข้อ “ว่าด้วยเรื่องกฎหมายเงินดิจิทัล” บรรยายโดย คุณทิพยสุดา ถาวรามร รองเลาขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวว่า “พ.ร.ก. ออกมาแล้ว ทางก.ล.ต. ต้องออกมากฎระดับรอง หากดีไม่ดีก็ค่อยมาแก้ไข เพราะทุกอย่างสามารถนำไปอัพเดตเพื่อไปปรับ เนื่องจาก Cryptocurrency ถูกสร้างเพื่อแลกเปลี่ยน สามารถชำระแทนเงินตรา แต่ตอนนี้มันก็มีวิวัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ ซึ่งมันยังไม่เป็นหลักทรัพย์เสียทีเดียว ต่อมาก็มีคนที่หัวใสทำอยากให้มันเป็นหลักทรัพย์ ทำให้ทางเราต้องดูว่ามันเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ ต้องกำกับดูแลหรือเปล่า ทั้งนี้การกำกับดูแลที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน”
ในส่วนของการเสวนาจากนักกฎหมายที่พูดถึงกฎหมายเงินดิจิทัล หัวข้อ “นักกฎมายกับกฎหมายเงินดิจิทัล” ซึ่งมี ดร.ภูมิ ภูมิรัตน เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ คุณกุลรัตน์ ผ่องสถาพร จาก Baker McKenzie, คุณอธิษฐา จิตรานุเคราะห์ จาก Tilleke & Gibbins และคุณไกรศร เรืองกูล จาก DFDL
คุณกุลรัตน์ ผ่องสถาพร จาก Baker McKenzie กล่าวถึงมุมมองของตัวบทกฎหมายดังกล่าวว่า “หากคุณอยากจะออก ICO ต้องคิดก่อนว่ามันต้องเปิดขึ้นในเมืองไทยใช่ไหม พอมาดูหลักเกณฑ์ของเราก็จะเป็นว่ามีหลักเกณฑ์ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นถ้าจะออก ICO ในไทยต้องศึกษาให้ดี ต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลของตัวเองได้ เพื่อดูว่ามันถูกต้องและสอดคล้องกับสิ่งที่พูดมาหรือไม่ หากมามองในมุมนักลงทุนก็ต้องดูกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต.เช่นกัน ว่าตัวเองเป็นนักลงทุนประเภทไหน และทำ KYC กับ CDD ให้เรียบร้อย”
คุณอธิษฐา จิตรานุเคราะห์ จาก Tilleke & Gibbins กล่าวเพิ่มเติมเรื่องตัวบทกฎหมายดังกล่าวว่า “เราต้องดูกฎหมายตัวนี้อย่างเข้มข้น ถ้าอยากจะทำ ICO ในไทยคุณต้องจดทะเบียนที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เวลามองกฎหมายอยากให้มองรายละเอียดด้วยว่ามีอะไรที่กระทบเราบ้าง เช่น มีผู้ประกอบการต่างชาติมาหุ้นกับเราด้วย และส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งแน่นอนว่าหน่อยงานกำกับดูแลไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เดียว และความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นอีกอยู่ เป็นต้น”
คุณไกรศร เรืองกูล จาก DFDL กล่าวถึงมุมมองของตัวบทกฎหมายดังกล่าวว่า “เราเห็นว่า การที่ ก.ล.ต ได้ออกกฎครั้งนี้ ถือว่าเป็นรัฐบาลไม่กี่ประเทศในโลกที่เข้ามาทำเรื่องนี้เต็มตัวและออกมาอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานกำกับดูแลเพื่อมาทำประโยชน์ สร้างความปลอดภัยในแก่นักลงทุน โดยเรายินดีมากมันทำให้ Asset ชนิดนี้ดูมีความน่าเชื่อถือ และเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าถ้านำไปใช้จริงจะเป็นอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฟินเทคประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาที่ให้ความรู้เชิงกฎหมายเรื่องดังกล่าวเป็นที่แรกนับตั้งแต่มีตัวกฎหมายนี้เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากสมาชิกสมาคมและบุคคลภายนอกที่สนใจในเรื่องดังกล่าว…และพบกับในงานครั้งต่อไป